วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555
ฉลองอัครเทวดามีคาแอล คาเบรียล ราฟาแอล
29 กันยายน ฉลองอัครเทวดามีคาแอล คาเบรียล ราฟาแอล
อัครเทวดามีคาแอล มีคาแอล ( ไมเกิ้ล )
พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างเทวดาให้ประกอบด้วยจิตบริสุทธิ์ เต็มไปด้วยแสงสว่างและความรักให้แวดล้อมพระบังลังก์ของพระองค์ ยังได้ทรงโปรดประทานพระพรแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ความสวยงาม และปรีชาญาณแก่เทวดาด้วย
ในตำนานได้เล่าว่า เทวดาผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งมีนามว่า " ลูซีแฟร์ " แปลว่า" ผู้มีความสว่าง " เทวดาลูซีแฟร์ทรงในฤทธิ์อำนาจของตน และคิดกบฎต่อพระผู้เป็นเจ้า โดยกล่าวว่า " ข้าพเจ้าจะไม่ปรนนิบัติพระผู้เป็นเจ้า " แต่ยังมีอัครเทวดาองค์หนึ่งนามว่า " มีคาแอล " แปลว่า " ใครเล่าจะมาเทียบเท่าพระเป็นเจ้า " พร้อมกับสมัครพรรคพวกจึงทำสงครามกับลูซีแฟร์ เทวดาฝ่ายที่จงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าก็ได้ขับไล่ลูซีแฟร์กับพวกลงนรกไป ผลแห่งความจงรักภักดีนี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงตั้งให้ท่านเป็นอัศวินแห่งกองทัพในสรวงสวรรค์
ในพระธรรมใหม่ถือว่าท่านคือ อัครเทวดาแห่งความคุ้มครอง และปกป้องพระศาสนจักรคาทอลิก
(ดนล. 12 : 1-3)
อัครเทวดาราฟาแอล
อัครเทวดาราฟาแอล ปรากฎองค์ครั้งแรกในพระคัมภีร์ ตอนที่เล่าถึงโตเบีย ท่านเรียกตัวเองว่า " อาซาริยาห์ " มาเป็นเพื่อนท่านร่วมทางกับโตเบียไปยังเมืองราเยสเพื่อทวงหนี้ให้กับบิดา (ทบต. 5:4-12 ) โดยปกป้องคุ้มครองเขาตลอดทางจนกลับถึงบ้าน นอกนั้นท่านได้จัดหาภรรยาที่ดีให้แก้เขา และยังรักษาดวงตาของบิดาให้หายจากตาบอดด้วย
ในที่สุด อัครเทวดาราฟาแอล ได้แสดงตนให้เขาทราบโดยบอกว่า " ข้าพเจ้าคืออัครเทวดาราฟาแอล
เป็นหนึ่งในบรรดาเทวดาเจ็ดองค์ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระบังลังก์พระเป็นเจ้า " (ทบต. 12 : 15) ทั้งสองประหลาดใจว่าทำไมพระเป็นเจ้าทรงโปรดเทวดามาช่วย ราฟาแอลจึงอธิบายว่า " เป็นเพราะท่านโตเปียได้นมัสการพระเป็นเจ้าเหมาะสมเสมอ ทั้งได้ทำบุญสุนทานถวายพลีกรรมด้วยความเสียสละอย่างสูง "
ราฟาแอล แปลว่า " ผู้ที่พระเป็นเจ้าทรงรักษา " ราฟาแอลเป็นองค์อุปภัมภ์ผู้เดินทาง แพทย์หนุ่มสาวผู้กำลังเลือกทางชีวิตและความชื่นชมยินดีอีกด้วย.
อัครเทวดาคาเบรียล
ตามที่ประกาศกดาเนียลได้ทำนายไว้ อัครเทวดาคาเบรียลคือผู้ที่แจ้งข่าวแก่ท่านถึงการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ (ดนล. 8,16,21) นักบุญลูกาได้เขียนถึงการบังเกิดของยอห์น บัปติสต์ว่า ขณะที่ท่านเศคาริยาห์ถวายกำยานแด่พระเป็นเจ้า"อัครเทวดาคาเบรียลได้เสด็จมา ประทับยืนอยู่เบื้องขวาพระแท่น " เกียรติสำคัญที่สุดที่อัครเทวดาคาเบรียลได้รับคือ การมาแจ้งสารแด่มารีอา ที่นาซาเร็ธว่า เธอจะได้รับเลือกเป็นมารดาของพระคริสตเจ้า (ลก. 1 : 26)
นาม " คาเบรียล " หมายถึง " พละกำลังของพระเจ้า " ปิตาจารย์ของพระศาสนจักรบางท่านกล่าวว่า เทวดาคาเบรียลเสด็จมาประทับอยู่ใกล้พระเยซูเจ้าขณะที่ทรงรำลึกถึงพระมหา ทรมาน ท่อนแรกในบทสรรเสริญแม่พระว่า " วันทามารีอา...." เป็นถ้อยคำของท่านอัครเทวดาคาเบรียล.
( จาก เว็บไซต์ http://www.geocities.com/Athens/Thebes/3517/saint14.html )
วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555
ฉลองนักบุญมัทธิว
นักบุญมัทธิว ผู้นิพนธ์พระวรสาร
ฉลองวันที่ 21 กันยายน
มัทธิว หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า เลวี เป็นชาวยิว อาศัยอยู่ที่เมืองคาเปอร์นาอุม มีอาชีพเป็นพนักงานเก็บภาษีคนเดินทางมาจากประเทศซีเรียให้จักรพรรดิ์โรมัน ซึ่งเป็นอาชีพที่ชาวยิวรังเกียจ เพราะรับใช้คนต่างชาติ และพนักงานเก็บภาษีมักจะฉวยโอกาสขูดรีดและยักยอกเงินภาษีอยู่เสมอๆ ดังเช่นตัวอย่างของศักเคียส พระวรสารของนักบุญมาระโกระบุว่าเป็นบุตรของอัลเฟอัส (มก.3.14)คงจะเป็นคนละคนกับอัลเฟอัสบิดาของยากอบ (เล็ก) เพราะชาวยิวมีชื่อซ้ำกันอยู่มาก
พระเยซูคริสต์เสด็จผ่านมาทางด่านเก็บภาษี ทอดพระเนตรเห็นมัทธิวก็ตรัสเรียกให้ตามพระองค์ไปเขาก็ทิ้งหน้าที่ตามพระองค์ไปทันที (มธ.9.9) แสดงว่ามัทธิวคงจะรู้จักพระเยซูคริสต์และเคยได้ยินกิตติศัพท์เรื่องคำสั่งสอนของพระองค์มาก่อนแล้วจึงเกิดเลื่อมใส พอมีโอกาสก็สมัครเป็นศิษย์ติดตามพระองค์ไปทันที อนึ่ง การที่มัทธิวมีอาชีพเป็นพนักงานเก็บภาษีย่อมแสดงว่าเป็นคนที่มีความรู้อ่านเขียนได้ดี
นักบุญมัทธิวจึงได้เขียนพระวรสารขึ้นสำหรับชาวยิวเป็นภาษาท้องถิ่นทางเหนือซึ่งเรียกว่าอาราเมอิค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นหนังสือที่รวบรวมคำสอนของพระเยซูคริสต์สำหรับชาวยิวที่เพิ่งกลับใจใหม่ หรือเรียกว่าหนังสือคำสอนนั้นเอง เดิมทีเชื่อกันว่ามัทธิวเป็นคนเขียนพระวรสารคนแรก เพราะชาวยิวเป็นคนแรกที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ แต่จากการศึกษาอย่างละเอียดพบว่ามาระโกน่าจะเป็นคนเขียนพระวรสารคนแรกซึ่งมีลักษณะสั้น กะทัดรัด ต่อมามัทธิวจึงยึดโครงสร้างเดียวกันนั้น แล้วเพิ่มเติมรายละเอียดต่างๆให้มากขึ้น เนื่องจากมัทธิวเป็นอัครสาวกคนหนึ่งของพระเยซูคริสต์ มีประสบการณ์โดยตรงกับพระองค์ จึงมีรายละเอียดเพิ่มเติมได้มากขึ้น จุดประสงค์ของมัทธิวต้องการจะเน้นว่าพระเยซูคริสต์นี่แหละคือ พระเมสสิยาห์ที่บรรดาประกาศกในพันธสัญญาเดิมได้พยากรณ์ไว้ มัทธิวจึงอ้างคำพยากรณ์ของประกาศกในพันธสัญญาเดิมอยู่เนืองๆ และเพื่อพิสูจน์ว่าพระเมสสิยาห์นี้คือผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลอิสราเอลนั่นเอง ท่านจึงเริ่มต้นพระวรสารของท่านด้วยลำดับพระวงศ์ของพระเยซูคริสต์ตั้งแต่อับราฮัมมาจนถึงนักบุญยอแซฟ(มธ.1.1-17) เพราะเหตุนี้เองมัทธิวจึงมีรูปคนเป็นสัญลักษณ์ เพราะท่านเป็นผู้ประกาศว่าพระเยซูคริสต์เป็นบุตรมนุษย์
หลังจากที่มัทธิวได้เทศนาสั่งสอนจนชาวยิวกลับใจและเขียนพระวรสารมอบไว้ให้แล้ว ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าท่านไปประกาศข่าวดี ณ ที่ใดบ้างก็ว่าที่ประเทศเอธิโอเปีย บ้างก็ว่าที่เปอร์เชีย ผู้ที่เชื่อว่าท่านไปประกาศพระศาสนาที่เอธิโอเปียก็กล่าวว่าท่านถูกฆ่าตายที่นั้นจากกษัตริย์ฮีร์ตากุส เพราะท่านออกโรงปกป้องสาวพรหมจารีคนหนึ่งมิให้ตกเป็นภรรยาของกษัตริย์โดยไม่ถูกต้อง เชื่อกันว่าศพของท่านถูกย้ายมาเก็บไว้ที่เมืองชาแลร์โน ประเทศอิตาลี และถูกซุกซ่อนไว้จนลืม พระสันตปาปา เกรโกรีที่ 7 ในปี ค.ศ.1080 ได้มีจดหมายแสดงความยินดีไปยังอัครสังฆราชของเมืองซาแลร์โน ที่ได้พบศพของนักบุญมัทธิวที่ถูกซุกซ่อนไว้แล้ว ชาวเมืองที่นั่นเขายกย่องให้เกียรติท่านมากมาจนทุกวันนี้
นักบุญมัทธิว เป็นองค์อุปถัมภ์ นักบัญชี นายธนาคาร เจ้าหน้าที่ศุลกากร คนแลกเปลี่ยนเงินตรา คนที่รักษาความปลอดภัย คนเก็บภาษี
ที่มา www.kamsondede.com
วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555
ฉลองแม่พระมหาทุกข์
วันที่ 15 กันยายน ฉลองแม่พระมหาทุกข์
การฉลองแม่พระมหาทุกข์นี้ เชิญชวนให้เรารำพึงถึงความทุกข์เจ็บปวดรวดร้าวของพระมารดา 7 อย่างด้วยกัน ที่มีการพูดถึงในพระวรสาร เป็นพระสันตะปาปาปีโอที่ 7 ที่ได้นำการฉลองแม่พระมหาทุกข์เข้ามาในพิธีกรรมของพระศาสนจักร เพื่อเป็นการระลึกถึงความทุกข์ยากลำบากที่จักพรรดินโปเลียนได้กระทำต่อพระศาสนจักร และเป็นต้นที่ได้กระทำต่อประมุขของพระศานจักร
การมีส่วนร่วมในความทุกข์ยากลำบาก ที่พระมารดาพระผู้ไถ่ได้มีร่วมกับพระบุตรของพระนาง ในงานช่วยมนุษย์ให้รอดนั้น ( ลก. 2: 33 - 35 ) เป็นต้นได้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์พยานในชั่วโมงที่พระองค์ถูกตรึงไม้กางเขน
ในปัจจุบันการฉลองการระลึกถึงแม่พระมหาทุกข์นี้ เรามุ่งมาที่ตัวพระนางเอง พระมารดาผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความทุกข์และยัญบูชาของพระคริสตเจ้า ซึ่งพระนางเองได้ทรงถวายแด่พระบิดาพร้อมๆ กับพระบุตร
ความทุกข์ยากเป็นของมนุษย์ทุกคนที่เจริญชีวิตในโลกนี้ ทุกคนต้องเผชิญกับการประจญของปิศาจและความยากลำบากต่างๆ แต่พระองค์ประทานพระหรรษทานให้แก่ทุกคน ให้สามารถต่อสู้ความทุกข์ยากนั้น ตามแต่ความต้องการของแต่ละคน
มหาทุกข์ 7 ประการของพระแม่เปรียบดั่งดาบ 7 เล่มที่เสียบแทงดวงพระหทัยพระนาง คือ
1. คำพยากรณ์ของท่านซีเมโอน
ในพระวิหาร ซีเมโอนรับพระกุมารมาอุ้มไว้ พยากรณ์ว่าเด็กนี้จะเป็นสัญลักษณ์แห่งการขัดแย้ง " กุมารนี้เกิดมาเพื่อความพินาศ และความรอดของคนเป็นอันมากในชาติอิสราเอล และเป็นเสมือนเป้าให้มนุษย์คัดค้าน ส่วนตัวท่าน ( พระนางมารีอา) ก็จะถูกกระบี่ทิ่มแทงดวงใจ " ( ลก. 2: 34 - 35 )
2. พาพระกุมารหนีไปอิยิปต์
ดาบเล่มที่ 2 ที่ทิ่มแทงดวงหทัยของพระนางคือ การที่ต้องพาพระเยซูเจ้าหนีไปอิยิปต์ เพื่อให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของเฮโรด เฮโรดคอยด้วยความกระวนกระวาย เมื่อทราบข่าวจากบัณฑิตทั้งสามว่า พระเยซูเจ้าบังเกิดที่ไหน จะได้ไปตามฆ่า เมื่อทราบว่าตนถูกหลอก ก็สั่งให้ฆ่าทารกทุกคนในเมืองเบธเลแฮม แต่เทวดาปรากฏมาบอกโยเซฟในฝันว่า " ลุกขึ้นเถิด พาพระกุมารและพระมารดา หนีไปประเทศอิยิปต์ " ( มธ. 2: 13 )
3. พระเยซูเจ้าทรงหายไปในพระวิหาร
ช่างเป็นภาพที่น่ารันทดใจเพียงใด ที่แม่พระต้องปวดร้าวใจตามหาพระเยซูเจ้าตั้งแต่เช้าจรดค่ำตลอด 3 วัน พระนางอาจจะกินข้าวกับน้ำตาเหมือนกับกษัตริย์ดาวิดคร่ำครวญถึงบุตรของตนที่หายไป " ข้าพระองค์กินน้ำตาต่างอาหารทั้งวันและคืน ขณะที่คนพูดกับข้าพระองค์วันแล้ววันเล่าว่า " พระเจ้าของเจ้าอยู่ที่ไหน " "(สดด. 42: 3)
4. พระมารดาพบพระเยซูเจ้าระหว่างทางสู่เนินเขากัลวาลิโอ
ประกาศกอิสยาห์กล่าวว่า " เรามองเห็นพระองค์ในสายตามนุษย์แล้วน่าสงสาร ( อสย . 53 : 2 ) นี่แหละพระบุตรสุดที่รักของพระนาง ไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร แม่พระคงปรารถนาจะเข้าไปกอดพระบุตร แต่ทหารคงผลักรุนพระเยซูเจ้าไปข้างหน้า และสบประมาทเยาะเย้ยพระนาง…แม่พระยังคงติดตามพระบุตรไป
5. พระเยซูเจ้าถูกตรึงกางเขน
แม่พระเฝ้าดูลูกน้อยที่ถูกปรับโทษถึงตาย ตาย ทั้งๆ ที่ลูกน้อยนั้นเป็นคนบริสุทธิ์ ลูกน้อยที่พระนางรักอย่างสุดหัวใจ แต่กลับถูกทรมานอย่างโหดร้ายสุดประมาณ และตายอยู่ต่อหน้าต่อตาพระนาง " มารีย์ มารดาของพระเยซูเจ้ายืนอยู่ที่เชิงกางเขน " ( ยน . 19 : 25 ) แม่พระยืนอยู่แทบเชิงกางเขน เฝ้าดูพระบุตรถูกทรมาน และกำลังจะสิ้นใจ เขาถอดเสื้อผ้าของพระองค์ออกจับนอนลงกับกางเขน ตอกตะปูที่มือและเท้าอย่างทารุณ ยกกางเขนตั้งขึ้น แล้วปล่อยให้พระองค์สิ้นพระชนม์…พวกเพชรฆาตหนีไป แต่แม่พระมิได้จากไป พระนางเข้าไปใกล้ๆ เชิงกางเขนมากขึ้น ท่านซีมอนแห่งกาเซีย กล่าวว่า " ใครที่เห็นแม่พระยืนนิ่งเงียบโดยไม่บ่นอะไรแทบเชิงกางเขน คงจะตกใจเพราะพระนางอดทนจริงๆ ริมฝีปากเธอเงียบ แต่ใจเธอไม่เงียบ พระนางถวายพระบุตรเพื่อความรอดของเรา ดังนั้นที่เชิงกางเขนแม่พระจึงเป็นมารดาของเรา และเราเป็นลูก ๆ ของพระนาง " พระเยซูจึงตรัสแก่พระมารดาว่า " สตรีเอ๋ย นี่แน่ะลูกของท่าน "และตรัสกับอัครสาวกว่า " นี่แน่ะแม่ของเจ้า " ( ยน . 19 : 26 - 27 )
6.พระมารดารับพระศพพระเยซูลงจากกางเขน
จิตใจของพระมารดาไม่สามารถรับความบรรเทาได้ เพราะพระเยซูเจ้าได้สิ้นพระชนม์แล้ว แม้ว่าพระบุตรจะสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ยังถูกหอกแทงที่สีข้างด้วยความโหดร้าย" ทหารคนหนึ่งเอาหอกแทงสีข้างของพระองค์ " ( ยน. 19 : 34 ) แม้ว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์แล้วก็ตาม แม่พระรับพระศพพระเยซูลงจากกางเขน ดาบเล่มที่ 6 ได้ทิ่มแทงดวงหทัยของแม่พระ พระนางต้องทรมานทีละอย่างๆ และบัดนี้ทุกอย่างเอามารวมกันทรมานพระนางมากทวีคูณขึ้นไปอีก พระนางยังคงยอมรับทรมาน ซึ่งดูเหมือนว่าความทุกข์นี้ก็ยังคงอยู่เรื่อยๆ เพราะมนุษย์ทำบาป ก็เป็นการทรมานพระองค์ ขอให้เรากลับใจเสียใหม่ ดังที่ประกาศกอิสยาห์กล่าวว่า " จงกลับใจเสียใหม่เถิด " ( อสย. 46 : 8 )
7. ฝังพระศพพระเยซูเจ้า
แม่พระผู้ระทมทุกข์กำลังแบมือรับร่างของพระบุตรที่ไร้ชีวิต เธอคงจะกล่าวเช่นเดียวกับมหาบุรุษโยบว่า " พระองค์ทรงกระทำกับข้าพเจ้าอย่างโหดร้ายนัก " ( โยบ 30 : 21 ) ความโศกเศร้าสุดแสนของแม่พระ พระบุตรยังคงอยู่ในอ้อมแขน พวกศิษย์กลัวแม่พระจะสิ้นใจ จึงรับพระศพไปจากพระนางเพื่อทำพิธีฝัง ถึงเวลาที่ต้องปลงพระศพ พระนางจะปวดร้าวใจสักเพียงใด ที่ต้องกล่าวอำลาครั้งสุดท้าย…แน่นอน ช่างเป็นภาพที่เศร้าสลดและปวดร้าวใจพระนางสุดพรรณา เมื่อคิดถึงโศกนาฏกรรมนี้
แม่พระบอกกับนักบุญบริจิตว่า " บุตรของฉันถูกฝัง แต่มีดวงใจสองดวง ที่ฝังอยู่ที่นั่นด้วย " ที่สุด พวกเขาก็ปิดที่ฝังพระศพของพระเยซูเจ้า ร่างกายนั้นมีค่ามากที่สุดทั้งบนแผ่นดินและในสวรรค์ แม่พระทรงทิ้งดวงใจของพระนางไว้กับพระบุตร เพราะพระองค์มีค่ามากที่สุด " เหตุว่า ทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด จิตใจของท่านก็อยู่ที่นั่นด้วย " ( ลก .12 : 34 )
ข้อมูลจากเวปไซด์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ
วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555
ฉลองเทิดทูนกางเขน
14 กันยายน : วันฉลองเทิดทูนกางเขน
ปัจจุบัน กางเขนได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของคริสตชนทั่วโลกที่เราพบเห็นอยู่ทั่วไป เช่น บนยอดวัด หลุมฝังศพ หรือซุ้มประตู
ทางเข้าหมู่บ้านคริสตชน เมื่อเราเห็นใครทำเครื่องหมายกางเขน เช่น นักกีฬาทำเครื่องหมายกางเขนก่อนลงสนามหรือเริ่มการแข่งขัน
เราทราบทันทีว่าเขาเป็นคริสตชน นอกนั้น กางเขนยังได้กลายเป็นเครื่องประดับที่แพร่หลายซึ่งผู้คนสวมใส่ตามแฟชั่น อาทิ สร้อยคอ
ต่างหู ที่เราพบเห็นกันทั่วไปในหมู่ดารา นักแสดง นักร้อง แม้พวกเขาจะไม่ได้เป็นคริสตชนก็ตาม
วันฉลองเทิดทูนไม้กางเขนที่เราฉลองในวันที่ 14 กันยายนของทุกปี เป็นการเทิดเกียรติกางเขนศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูเจ้าได้สิ้น
พระชนม์ด้วยความรักต่อมนุษย์ เพื่อนำความรอดพ้นมาสู่โลก กางเขนของพระเยซูเจ้าจึงเป็นเครื่องหมายแห่งความรักที่พระเจ้าทรงช่วยเราให้รอด การฉลองเทิดทูนไม้กางเขนเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 4 เริ่มจากการที่พระนางเฮเลนา (นักบุญเฮเลนา) พระมารดาของจักรพรรดิคอนสแตนตินได้ค้นพบกางเขนของพระเยซูเจ้าอย่างอัศจรรย์ ขณะไปแสวงบุญที่เยรูซาเลม เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 326
ต่อมาภายหลังจักรพรรดิคอนสแตนตินได้สร้างวิหารขึ้น 2 หลัง บนเนินกัลวารีโอและ ณ สถานที่ฝังพระศพของพระเยซูเจ้า และโปรดให้มีการเฉลิมฉลองในวันที่ 13 และ 14 กันยายน ส่วนการฉลองนี้เป็นที่แพร่หลายในพระศาสนจักรตะวันตกในศตวรรษที่ 7 หลังจากจักรพรรดิเฮราคลิอุสแห่งคอนสแตนติโนเปิล ได้ยึดครองกางเขนของพระเยซูเจ้าคืนจากพวกเปอร์เซีย และนำกลับกรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า
ความหมายของกางเขน (The Cross)
เมื่อพระเยซูคริสต์ถูกตัดสินให้ประหารด้วยการตรึงบนไม้กางเขน เขาก็นำพระองค์ไปโบยตีด้วยแส้หนังตามวิธีลงโทษนักโทษประหาร แส้นี้ทำด้วยหนังเป็นเส้นๆ คล้ายหางม้า และมีตะกั่ว กระดูกสัตว์หรือของมีคมอื่นๆ ผูกเป็นปมๆ ติดอยู่ เพื่อเพิ่มความเจ็บปวดและสร้างบาดแผลให้มากยิ่งขึ้น นักโทษบางคนถึงกับเสียชีวิตด้วยการโบยด้วยแส้นี้ บางคนถึงกับตาบอดก็มี หลังจากเฆี่ยนแล้วเขาก็นำพระองค์มาล้อเลียน เยาะเย้ย ทั้งเอาหนามมาสานเป็นมงกุฎสวมให้ด้วย พอวันรุ่งขึ้นเขาก็ให้พระองค์แบกกางเขนอันใหญ่และหนักไปตามถนนทั้งๆ ที่พระองค์บอบช้ำและอดนอนมาตลอดทั้งคืนแล้ว ขบวนแห่นักโทษนี้จะมีทหารคุมไป 4 คนอยู่คนละมุมเป็นรูปสี่เหลี่ยม ข้างหน้ามีป้ายประจานความผิดของนักโทษเขียนเป็น 3 ภาษาคือ กรีก ลาติน และฮีบรู เพราะภาษากรีกเป็นภาษาที่ใช้ในทางการค้า ภาษาลาตินเป็นภาษาทางราชการ ส่วนภาษาฮีบรูเป็นภาษาท้องถิ่น เขาจะนำป้ายอันนี้มาติดไว้ที่ยอดกางเขนเมื่อตรึงแล้วด้วย นักโทษจะถูกแห่ประจานไปรอบๆ เมือง ก่อนที่จะนำไปประหาร โดยใช้เส้นทางที่ยาวและคดเคี้ยวที่สุด ด้วยเหตุผลสองประการคือ เป็นการประจาน ถ้าในขณะที่เดินไปมีผู้ใดจะคัดค้านและขอเป็นพยานในความบริสุทธิ์ของนักโทษก็จะประท้วงคำพิพากษานี้ได้ คดีนี้จะต้องรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่ น่าสลดใจที่ไม่มีผู้ใดคัดค้านเพื่อพระเยซูกันเลยแม้แต่คนเดียว
กางเขนที่พระเยซูแบกไปนั้นเข้าใจกันว่าเป็นกางเขนที่เราเห็นอยู่ในโบสถ์ทั่วๆ ไปซึ่งเรียกกันว่ากางเขนแบบลาติน กางเขนในสมัยนั้นไม่ได้มีอยู่แบบเดียวเท่านั้น ยังมีกางเขนรูปตัว X เรียกว่ากางเขนของนักบุญอันดรูว์ เพราะเชื่อว่าอัครสาวกอันดรูว์ถูกตรึงด้วยกางเขนชนิดนี้ แบบที่ 3 ก็เป็นรูปตัว T มีชื่อว่ากางเขนแบบเทา (Tau Cross) เป็นกางเขนเก่าแก่ตั้งแต่พระคัมภีร์เดิม ซึ่งโมเสสใช้แบบนี้เพื่อชูงูขึ้น คราวที่เร่ร่อนในถิ่นทุรกันดาร และแบบที่ 4 ก็คือแบบของกรีกที่เป็นรูปกากบาท + คือแบบสัญลักษณ์ของกาชาดนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีกางเขนอีก 3 แบบ คือ
1. แบบเยรูซาเล็ม (Jerusalem Cross) ความหมายพระกิตติคุณจะขยายไปสี่มุมโลก และรำลึกถึงบาดแผล ห้าจุดของพระเยซูคริสต์
2. แบบมอดิส (Maltese Cross) เป็นรูปดาว 4 แฉก และมีมุม 8 มุม ซึ่งเล็กถึงพระพรทั้ง 8 ประการของพระเยซู ( มัทธิว 5:3-10 )
3. แบบเคลติค (Celtic Cross) รูปแบบกางเขนที่ได้รับอิทธิพลของชาวไอแลนด์โบราณวงกลมในกางเขนมีความหมายถึงความเป็น
นิรันดร์ที่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นจากความตาย
นอกจากกางเขนสามรูปแบบที่เพิ่มเติม แล้วยังมีอีกหลายรูปแบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับนิกาย และศาสนศาตร์/เทวศาสตร์ (Theology) ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามความหมายคงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะคือเล็งถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์บนไม้กางเขน เพื่อเป็นค่าไถ่มนุษยชาติ หรือบางคนอาจจะกล่าวว่ากางเขนเป็นเครื่องหมายแห่งความรอดแก่บรรดาผู้เชื่อ
การตรึงบนไม้กางเขน เป็นวิธีการทำให้เจ็บปวดรวดร้าว เป็นวิธีการประหารชีวิตซึ่งพวกโรมันใช้ ไม่ใช่เป็นวิธีการของพวกยิว
พวกยิวในสมัยพระคัมภีร์เดิมใช้วิธีประหารชีวิตพวก อาชญากรโดยใช้หินขว้างให้ตาย และเอาศพแขวนไว้บนต้นไม้เป็นเครื่องแสดงว่าคนถูกประหารชีวิตเหล่านั้นอยู่ภายใต้การสาปแช่งของพระเจ้า (ฉธบ. 21:22-23)
พวกยิวในสมัยพระเยซูอยู่ภายใต้การปกครองของโรมไม่มีอำนาจจัดการประหารชีวิต เขาต้องยอมให้ทางโรมทำ อย่างไรก็ตามพวกชาวยิวไม่ขอให้โรมเอาหินขว้างพระเยซูให้ตาย เขาเห็นว่าจับพระองค์ตรึงบนกางเขนให้ตายมันง่ายดีกว่า (มธ. 27:22-23)
พวกยิวถือกันว่ากางเขนของพระเยซูเป็นเสมือนต้นไม้ เพราะพระองค์ถูกแขวนไว้บนท่อนไม้รูปกางเขนนั้น พวกเขาจึงถือว่าพระองค์ตกอยู่ภายใต้การสาปแช่งของพระเจ้า
แท้ที่จริงพระเยซูคริสต์ได้ทรงแบกการสาปแช่งของพระเจ้าไว้กับพระองค์อย่างที่เขาคิด พระองค์กระทำเช่นนั้นไม่ใช่เพราะพระองค์เองกระทำผิด พระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีความบาป แต่พระองค์ทรงรับการสาปแช่งแทนคนบาป เพราะเหตุความเข้าใจผิดเรื่องการสาปแช่งแห่งกางเขนจึงทำให้การตรึงพระเยซูบนไม้กางเขนเป็นหินสะดุดพวกชาวยิว พวกเขาปฏิเสธไม่ยอมเชื่อพระเยซู เพราะฉะนั้นกางเขนจึงเป็นเครื่องกีดกันพวกเขา ไม่ให้รับความรอดจากพระเจ้า ผู้เขียนพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่ถือว่าการที่พระเยซูคริสต์ได้ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนนี้เป็นรากฐานแห่งพันธกิจการช่วยให้รอดของพระเจ้า ดังนั้นไม้กางเขนจึงกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของความรอด ซึ่งพระเจ้าทรงโปรดให้ผู้เชื่อทุกคนพ้นจากความผิดบาป ข่าวประเสริฐก็คือข่าวเรื่องไม้กางเขนนั่นเอง กางเขนจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความอับอาย และความตายด้วย พระเยซูคริสต์ได้ทรงชี้แจงด้วยพระองค์เองว่า คนเหล่านั้นที่ต้องการจะเป็นสาวกของพระองค์ ต้องพร้อมที่จะเผชิญกับความอับอาย ความทุกข์ทรมานและความตาย ถ้าหากพวกเขาเป็นสาวกที่แท้จริงของพระองค์ ความเป็นมาของกางเขน
เดิมทีเกิดขึ้นในหมู่ชาวเปอร์เซีย พวกเขามีความเชื่อว่าแผ่นดินนั้นบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ยอมให้ร่างกายของผู้ทำผิดหรือร่างกายที่ชั่วร้ายนั้นมาเกลือกกลั้ว เมื่อจะประหารก็จัดการตรึงไว้ด้วยตะปูนแขวนห้อยเหนือพื้นดิน เมื่อตายแล้วก็ให้แร้งหรือสุนัขป่ามาฉีกกินจนสิ้นซาก วิธีการเช่นนี้พวกคาเธจซึ่งอยู่ใกล้อิตาลีหรือโรมจดจำมาใช้และทางโรมันก็นำมาใช้อีกต่อหนึ่ง แต่การนำกางเขนมาใช้นี้มิได้ใช้กับชาวโรมัน แต่จะใช้กับพวกทาสหรือพวกกบฏที่เป็นชาวต่างชาติ เพราะเขาถือว่าชาวโรมันเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่าคนชาติอื่นๆ จะถูกทำทารุณกรรมอย่างนั้นไม่ได้ ซิเซโร นักปรัชญาเป็นเอกที่มีชื่อเสียงในสมัยก่อนคริสต์ศตวรรษแสดงความเห็นไว้ว่า สำหรับประชาชนชาวโรมันแล้ว "การถูกจับมัดก็เป็นอาชญากรรม ถ้าถูกเฆี่ยนตีก็ยิ่งเลวร้ายไปกว่านั้นอีก คือถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างที่สุด แต่ถ้าถูกตรึงบนกางเขนละก็ไม่ทราบว่าจะเปรียบกับอะไรอีกได้" ด้วยเหตุนี้การประหารด้วยการตรึงบนกางเขนจึงไม่มีในหมู่ชาวโรมัน พระเยซูคริสต์ของเราถูกประหารอย่างทารุณที่สุด ต่ำต้อยที่สุดและน่าอับอายที่สุดที่มนุษย์จะคิดขึ้นได้ในสมัยนั้น
บทเรียนสำหรับเรา
โอกาสฉลองเทิดทูนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า และเมื่อมองดูกางเขนของพระองค์ เราได้บทเรียนที่สำคัญอะไรบ้าง
ประการแรก จงมีความถ่อมตน กางเขนของพระเยซูเจ้าสะท้อนให้เห็นถึงการถ่อมตนจนถึงที่สุดของพระองค์เพื่อช่วยเราให้รอด เราในฐานะเป็นศิษย์ของพระองค์ต้องมีใจสุภาพถ่อมตน ปฏิเสธตัวเอง ไม่ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง หรือสำคัญผิดว่าตัวเองคือความถูกต้อง แต่ให้พระเจ้าเป็นศูนย์กลางของชีวิต มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุด “พระองค์จะต้องทรงยิ่งใหญ่ขึ้นส่วนข้าพเจ้าจะต้องด้อยลง” (ยน 3:30)
ประการที่สอง จงเทิดทูนไม้กางเขน ทุกวันนี้มีการประดับกางเขนด้วยเพชร นิล จินดา แต่เครื่องประดับที่มีค่าที่สุดคือ การช่วยให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความรักและการช่วยให้รอดของพระเจ้าบนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าได้ชนะบาปและความตายแล้ว มีเพียงพระองค์เท่านั้นที่สามารถช่วยเราให้ได้รับชัยชนะและเดินในหนทางที่ถูกต้อง
ประการที่สาม จงดำเนินชีวิตบนหนทางแห่งไม้กางเขน ทุกครั้งที่เรามองดูกางเขนหรือทำสำคัญมหากางเขน ต้องเตือนตัวเราให้เลียนแบบพระเยซูเจ้า ผู้ถูกตรึงกางเขน บนเส้นทางแห่งการรับใช้ ความรักและการให้อภัยอย่างหาที่สุดมิได้ พระเจ้ามิได้ส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อพิพากษาโลก แต่เพื่อช่วยโลกให้รอด เราจึงไม่ควรบ่นว่าหรือตำหนิกันและกัน แต่สนับสนุนส่งเสริมและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
บทสรุป
การฉลองเทิดทูนไม้กางเขน เตือนใจเราให้ตระหนักถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่มีต่อเรา ผ่านทางกางเขนของพระเยซูเจ้าเราได้รับการช่วยให้รอด กางเขนจึงเป็นเครื่องหมายแห่งความรอด บ่อเกิดแห่งชีวิต การให้อภัยและพระทัยเมตตาของพระเจ้า ที่เราจะต้องแบกด้วยความยินดี เพื่อช่วยโลกให้ตระหนักถึงความรักของพระคริสตเจ้าที่ถูกตรึงเพื่อความรอดของทุกคน
พระเยซูเจ้าทรงไถ่เราด้วยกางเขนศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ และทรงเปลี่ยนเครื่องหมายแห่งความตายในสมัยนั้นให้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งความรอดนิรันดร ให้เราได้เทิดทูนกางเขนและนำเครื่องหมายที่นำความรอดนี้ไปสู่ทุกคน เพื่อช่วยทุกคนให้ได้พบความรักของพระเจ้าและความรอดนิรันดร ผ่านทางแบบอย่างชีวิตของเรา
ที่มา
www.catholic.or.th
dondaniele.blogspot.com
วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555
วันฉลองแม่พระบังเกิด
วันที่ 8 กันยายน ฉลองแม่พระบังเกิด
การฉลองแม่พระที่สำคัญๆนั้นมีต้นกำเนิดมาจากทางพระศาสนจักรตะวันออก หรือพระศาสนจักรที่พูดภาษากรีก เช่นเดียวกัน สำหรับการฉลอง “แม่พระบังเกิด” เป็นพระสันตะปาปาแซร์จิอุสที่ 1 ซึ่งเป็นพระสันตะปาปาที่มีเชื้อสายทางพระศาสนจักรตะวันออก ได้เป็นผู้ที่นำเข้ามาสู่พระศาสนจักรลาตินในปลายศตวรรษที่ 7
การฉลองแม่พระบังเกิด แต่เดิมเป็นวันฉลอง “คล้ายวันเสกวิหารนักบุญอันนาที่กรุงเยรูซาเล็ม” ที่จริงตามคำบอกเล่าที่สืบทอดต่อกันมาว่าเป็นสถานที่พำนักอาศัยของนักบุญยออากิมและนักบุญอันนาซึ่งมีเชื้อสายจากกษัตริย์ดาวิด ท่านทั้งสองเป็นบิดามารดาของพระนางมารีย์
อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของเราที่จะค้นหาความจริงที่ลึกซึ้งในการฉลองแม่พระบังเกิดนี้ นั่นก็คือ การเสด็จลงมาบนแผ่นดินนี้ของพระคริสตเจ้านั้น ได้รับการตระ เตรียมจากพระบิดาเจ้านานนับเป็นศตวรรษ บุคลิกภาพแห่งการเป็นพระเจ้าของพระผู้ไถ่ อยู่ เหนือทุกสิ่งทุกอย่างอย่างไม่มีขอบเขต ยากที่มนุษย์คนใดจะสามารถให้กำเนิดพระองค์ได้ ดังนั้นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจึงต้องค่อย ๆ ดำเนินไปด้วยความยากลำบากยิ่งในการตระ เตรียมเงื่อนไขที่จำเป็นต่างๆ สำหรับการเสด็จลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระบุตรพระเจ้า
เพราะฉะนั้น ความศรัทธาภักดีของคริสตชนจึงต้องการจะแสดงออกซึ่งความคารวะต่อบุคคล และเหตุการณ์ที่ได้มีส่วนร่วมในการตระเตรียมการบังเกิดของพระคริสตเจ้าในทุก ๆ ระดับไม่ว่าจะเป็นในระดับมนุษย์ปุถุชนธรรมดา หรือในระดับพระหรรษทานเหนือธรรมชาติก็ตาม นั่นก็คือพระมารดาของพระองค์ การบังเกิดของพระนาง การปฏิสนธิของพระนาง บิดามารดาของพระนางและแม้กระทั่งบรรพบุรุษของ
พระนางด้วย ( มธ 1:1-16: 18-23 )
การเชื่อในเหตุการณ์ที่ได้เตรียมไว้ สำหรับการเสด็จลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระบุตรพระเจ้าหมายความว่าเชื่อในความเป็นจริง แห่งการเสด็จลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระบุตรพระเจ้านั่นเอง ทั้งเป็นการยอมรับถึงความจำเป็นในการร่วมกิจการของมนุษย์ในการที่จะทำให้การช่วยให้โลกได้รอดสำเร็จไปด้วย
ความศรัทธาภักดีที่แท้จริงต่อพระนางมารีย์ต้องนำเราไปหาพระเยซูเจ้าเสมอ และการฉลองพระนางมารีย์มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่บูชามิสซา
คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ
1.ขอให้การบังเกิดของพระนางมารีย์มารดาของเราทุกคนเตือนเราให้คิดถึงสันติภาพด้วยเถิด
2.ข้าแต่พระนางมารีย์ โปรดช่วยให้เรามีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับพระเยซูเจ้า และในระหว่างพวกเรากันเองและในพระเป็นเจ้าด้วย
3. ข้าแต่พระนางมารีย์ โปรดช่วยเสนอให้เราสักวันหนึ่งได้บังเกิดใหม่ โดยได้รับชีวิตใหม่ในเมืองสวรรค์
ที่มา ประวัตินักบุญตลอดปี เดือนกันยายน www.catholic.or.th
The Nativity of the Blessed Virgin Mary
The Spiritual Tradition Regarding Mary's Birth
Sacred Scripture does not record Mary's birth. The earliest known writing regarding Mary's birth is found in the Protoevangelium of James (5:2), which is an apocryphal writing from the late 2nd century. What matters is not the historicity of the account, but the significance of Mary's and of every person's birth. In Mary's case, the early Church grew more and more interested in the circumstances surrounding the origin of Christ. Discussion about Mary throws light on the discussion about the identity of Jesus Christ.
The Church usually celebrates the passing of a person, that is, the person's entry into eternal life. Besides the birth of Christ, the Christian liturgy celebrates only two other birthdays: that of St. John the Baptizer and of Mary, the Mother of Jesus. It is not the individual greatness of these saints that the Church celebrates, but their role in salvation history, a role directly connected to the Redeemer's own coming into the world. Mary's birth lies at the confluence of the two Testaments--bringing to an end the stage of expectation and the promises and inaugurating the new times of grace and salvation in Jesus Christ. Mary, the Daughter of Zion and ideal personification of Israel, is the last and most worthy representative of the People of the Old Covenant but at the same time she is "the hope and the dawn of the whole world." With her, the elevated Daughter of Zion, after a long expectation of the promises, the times are fulfilled and a new economy is established. (Lumen Gentium 55)
The birth of Mary is ordained in particular toward her mission as Mother of the Savior. Her existence is indissolubly connected with that of Christ: it partakes of a unique plan of predestination and grace. God's mysterious plan regarding the Incarnation of the Word embraces also the Virgin who is His Mother. In this way, the Birth of Mary is inserted at the very heart of the History of Salvation. (M. Valentini, Dictionary of Mary, pp. 36-7.)
ที่มา รูปกระจกสี แม่พระบังเกิด www.assumption-cathedral.com
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)