วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555
ฉลองเทิดทูนกางเขน
14 กันยายน : วันฉลองเทิดทูนกางเขน
ปัจจุบัน กางเขนได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของคริสตชนทั่วโลกที่เราพบเห็นอยู่ทั่วไป เช่น บนยอดวัด หลุมฝังศพ หรือซุ้มประตู
ทางเข้าหมู่บ้านคริสตชน เมื่อเราเห็นใครทำเครื่องหมายกางเขน เช่น นักกีฬาทำเครื่องหมายกางเขนก่อนลงสนามหรือเริ่มการแข่งขัน
เราทราบทันทีว่าเขาเป็นคริสตชน นอกนั้น กางเขนยังได้กลายเป็นเครื่องประดับที่แพร่หลายซึ่งผู้คนสวมใส่ตามแฟชั่น อาทิ สร้อยคอ
ต่างหู ที่เราพบเห็นกันทั่วไปในหมู่ดารา นักแสดง นักร้อง แม้พวกเขาจะไม่ได้เป็นคริสตชนก็ตาม
วันฉลองเทิดทูนไม้กางเขนที่เราฉลองในวันที่ 14 กันยายนของทุกปี เป็นการเทิดเกียรติกางเขนศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูเจ้าได้สิ้น
พระชนม์ด้วยความรักต่อมนุษย์ เพื่อนำความรอดพ้นมาสู่โลก กางเขนของพระเยซูเจ้าจึงเป็นเครื่องหมายแห่งความรักที่พระเจ้าทรงช่วยเราให้รอด การฉลองเทิดทูนไม้กางเขนเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 4 เริ่มจากการที่พระนางเฮเลนา (นักบุญเฮเลนา) พระมารดาของจักรพรรดิคอนสแตนตินได้ค้นพบกางเขนของพระเยซูเจ้าอย่างอัศจรรย์ ขณะไปแสวงบุญที่เยรูซาเลม เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 326
ต่อมาภายหลังจักรพรรดิคอนสแตนตินได้สร้างวิหารขึ้น 2 หลัง บนเนินกัลวารีโอและ ณ สถานที่ฝังพระศพของพระเยซูเจ้า และโปรดให้มีการเฉลิมฉลองในวันที่ 13 และ 14 กันยายน ส่วนการฉลองนี้เป็นที่แพร่หลายในพระศาสนจักรตะวันตกในศตวรรษที่ 7 หลังจากจักรพรรดิเฮราคลิอุสแห่งคอนสแตนติโนเปิล ได้ยึดครองกางเขนของพระเยซูเจ้าคืนจากพวกเปอร์เซีย และนำกลับกรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า
ความหมายของกางเขน (The Cross)
เมื่อพระเยซูคริสต์ถูกตัดสินให้ประหารด้วยการตรึงบนไม้กางเขน เขาก็นำพระองค์ไปโบยตีด้วยแส้หนังตามวิธีลงโทษนักโทษประหาร แส้นี้ทำด้วยหนังเป็นเส้นๆ คล้ายหางม้า และมีตะกั่ว กระดูกสัตว์หรือของมีคมอื่นๆ ผูกเป็นปมๆ ติดอยู่ เพื่อเพิ่มความเจ็บปวดและสร้างบาดแผลให้มากยิ่งขึ้น นักโทษบางคนถึงกับเสียชีวิตด้วยการโบยด้วยแส้นี้ บางคนถึงกับตาบอดก็มี หลังจากเฆี่ยนแล้วเขาก็นำพระองค์มาล้อเลียน เยาะเย้ย ทั้งเอาหนามมาสานเป็นมงกุฎสวมให้ด้วย พอวันรุ่งขึ้นเขาก็ให้พระองค์แบกกางเขนอันใหญ่และหนักไปตามถนนทั้งๆ ที่พระองค์บอบช้ำและอดนอนมาตลอดทั้งคืนแล้ว ขบวนแห่นักโทษนี้จะมีทหารคุมไป 4 คนอยู่คนละมุมเป็นรูปสี่เหลี่ยม ข้างหน้ามีป้ายประจานความผิดของนักโทษเขียนเป็น 3 ภาษาคือ กรีก ลาติน และฮีบรู เพราะภาษากรีกเป็นภาษาที่ใช้ในทางการค้า ภาษาลาตินเป็นภาษาทางราชการ ส่วนภาษาฮีบรูเป็นภาษาท้องถิ่น เขาจะนำป้ายอันนี้มาติดไว้ที่ยอดกางเขนเมื่อตรึงแล้วด้วย นักโทษจะถูกแห่ประจานไปรอบๆ เมือง ก่อนที่จะนำไปประหาร โดยใช้เส้นทางที่ยาวและคดเคี้ยวที่สุด ด้วยเหตุผลสองประการคือ เป็นการประจาน ถ้าในขณะที่เดินไปมีผู้ใดจะคัดค้านและขอเป็นพยานในความบริสุทธิ์ของนักโทษก็จะประท้วงคำพิพากษานี้ได้ คดีนี้จะต้องรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่ น่าสลดใจที่ไม่มีผู้ใดคัดค้านเพื่อพระเยซูกันเลยแม้แต่คนเดียว
กางเขนที่พระเยซูแบกไปนั้นเข้าใจกันว่าเป็นกางเขนที่เราเห็นอยู่ในโบสถ์ทั่วๆ ไปซึ่งเรียกกันว่ากางเขนแบบลาติน กางเขนในสมัยนั้นไม่ได้มีอยู่แบบเดียวเท่านั้น ยังมีกางเขนรูปตัว X เรียกว่ากางเขนของนักบุญอันดรูว์ เพราะเชื่อว่าอัครสาวกอันดรูว์ถูกตรึงด้วยกางเขนชนิดนี้ แบบที่ 3 ก็เป็นรูปตัว T มีชื่อว่ากางเขนแบบเทา (Tau Cross) เป็นกางเขนเก่าแก่ตั้งแต่พระคัมภีร์เดิม ซึ่งโมเสสใช้แบบนี้เพื่อชูงูขึ้น คราวที่เร่ร่อนในถิ่นทุรกันดาร และแบบที่ 4 ก็คือแบบของกรีกที่เป็นรูปกากบาท + คือแบบสัญลักษณ์ของกาชาดนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีกางเขนอีก 3 แบบ คือ
1. แบบเยรูซาเล็ม (Jerusalem Cross) ความหมายพระกิตติคุณจะขยายไปสี่มุมโลก และรำลึกถึงบาดแผล ห้าจุดของพระเยซูคริสต์
2. แบบมอดิส (Maltese Cross) เป็นรูปดาว 4 แฉก และมีมุม 8 มุม ซึ่งเล็กถึงพระพรทั้ง 8 ประการของพระเยซู ( มัทธิว 5:3-10 )
3. แบบเคลติค (Celtic Cross) รูปแบบกางเขนที่ได้รับอิทธิพลของชาวไอแลนด์โบราณวงกลมในกางเขนมีความหมายถึงความเป็น
นิรันดร์ที่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นจากความตาย
นอกจากกางเขนสามรูปแบบที่เพิ่มเติม แล้วยังมีอีกหลายรูปแบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับนิกาย และศาสนศาตร์/เทวศาสตร์ (Theology) ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามความหมายคงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะคือเล็งถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์บนไม้กางเขน เพื่อเป็นค่าไถ่มนุษยชาติ หรือบางคนอาจจะกล่าวว่ากางเขนเป็นเครื่องหมายแห่งความรอดแก่บรรดาผู้เชื่อ
การตรึงบนไม้กางเขน เป็นวิธีการทำให้เจ็บปวดรวดร้าว เป็นวิธีการประหารชีวิตซึ่งพวกโรมันใช้ ไม่ใช่เป็นวิธีการของพวกยิว
พวกยิวในสมัยพระคัมภีร์เดิมใช้วิธีประหารชีวิตพวก อาชญากรโดยใช้หินขว้างให้ตาย และเอาศพแขวนไว้บนต้นไม้เป็นเครื่องแสดงว่าคนถูกประหารชีวิตเหล่านั้นอยู่ภายใต้การสาปแช่งของพระเจ้า (ฉธบ. 21:22-23)
พวกยิวในสมัยพระเยซูอยู่ภายใต้การปกครองของโรมไม่มีอำนาจจัดการประหารชีวิต เขาต้องยอมให้ทางโรมทำ อย่างไรก็ตามพวกชาวยิวไม่ขอให้โรมเอาหินขว้างพระเยซูให้ตาย เขาเห็นว่าจับพระองค์ตรึงบนกางเขนให้ตายมันง่ายดีกว่า (มธ. 27:22-23)
พวกยิวถือกันว่ากางเขนของพระเยซูเป็นเสมือนต้นไม้ เพราะพระองค์ถูกแขวนไว้บนท่อนไม้รูปกางเขนนั้น พวกเขาจึงถือว่าพระองค์ตกอยู่ภายใต้การสาปแช่งของพระเจ้า
แท้ที่จริงพระเยซูคริสต์ได้ทรงแบกการสาปแช่งของพระเจ้าไว้กับพระองค์อย่างที่เขาคิด พระองค์กระทำเช่นนั้นไม่ใช่เพราะพระองค์เองกระทำผิด พระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีความบาป แต่พระองค์ทรงรับการสาปแช่งแทนคนบาป เพราะเหตุความเข้าใจผิดเรื่องการสาปแช่งแห่งกางเขนจึงทำให้การตรึงพระเยซูบนไม้กางเขนเป็นหินสะดุดพวกชาวยิว พวกเขาปฏิเสธไม่ยอมเชื่อพระเยซู เพราะฉะนั้นกางเขนจึงเป็นเครื่องกีดกันพวกเขา ไม่ให้รับความรอดจากพระเจ้า ผู้เขียนพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่ถือว่าการที่พระเยซูคริสต์ได้ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนนี้เป็นรากฐานแห่งพันธกิจการช่วยให้รอดของพระเจ้า ดังนั้นไม้กางเขนจึงกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของความรอด ซึ่งพระเจ้าทรงโปรดให้ผู้เชื่อทุกคนพ้นจากความผิดบาป ข่าวประเสริฐก็คือข่าวเรื่องไม้กางเขนนั่นเอง กางเขนจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความอับอาย และความตายด้วย พระเยซูคริสต์ได้ทรงชี้แจงด้วยพระองค์เองว่า คนเหล่านั้นที่ต้องการจะเป็นสาวกของพระองค์ ต้องพร้อมที่จะเผชิญกับความอับอาย ความทุกข์ทรมานและความตาย ถ้าหากพวกเขาเป็นสาวกที่แท้จริงของพระองค์ ความเป็นมาของกางเขน
เดิมทีเกิดขึ้นในหมู่ชาวเปอร์เซีย พวกเขามีความเชื่อว่าแผ่นดินนั้นบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ยอมให้ร่างกายของผู้ทำผิดหรือร่างกายที่ชั่วร้ายนั้นมาเกลือกกลั้ว เมื่อจะประหารก็จัดการตรึงไว้ด้วยตะปูนแขวนห้อยเหนือพื้นดิน เมื่อตายแล้วก็ให้แร้งหรือสุนัขป่ามาฉีกกินจนสิ้นซาก วิธีการเช่นนี้พวกคาเธจซึ่งอยู่ใกล้อิตาลีหรือโรมจดจำมาใช้และทางโรมันก็นำมาใช้อีกต่อหนึ่ง แต่การนำกางเขนมาใช้นี้มิได้ใช้กับชาวโรมัน แต่จะใช้กับพวกทาสหรือพวกกบฏที่เป็นชาวต่างชาติ เพราะเขาถือว่าชาวโรมันเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่าคนชาติอื่นๆ จะถูกทำทารุณกรรมอย่างนั้นไม่ได้ ซิเซโร นักปรัชญาเป็นเอกที่มีชื่อเสียงในสมัยก่อนคริสต์ศตวรรษแสดงความเห็นไว้ว่า สำหรับประชาชนชาวโรมันแล้ว "การถูกจับมัดก็เป็นอาชญากรรม ถ้าถูกเฆี่ยนตีก็ยิ่งเลวร้ายไปกว่านั้นอีก คือถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างที่สุด แต่ถ้าถูกตรึงบนกางเขนละก็ไม่ทราบว่าจะเปรียบกับอะไรอีกได้" ด้วยเหตุนี้การประหารด้วยการตรึงบนกางเขนจึงไม่มีในหมู่ชาวโรมัน พระเยซูคริสต์ของเราถูกประหารอย่างทารุณที่สุด ต่ำต้อยที่สุดและน่าอับอายที่สุดที่มนุษย์จะคิดขึ้นได้ในสมัยนั้น
บทเรียนสำหรับเรา
โอกาสฉลองเทิดทูนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า และเมื่อมองดูกางเขนของพระองค์ เราได้บทเรียนที่สำคัญอะไรบ้าง
ประการแรก จงมีความถ่อมตน กางเขนของพระเยซูเจ้าสะท้อนให้เห็นถึงการถ่อมตนจนถึงที่สุดของพระองค์เพื่อช่วยเราให้รอด เราในฐานะเป็นศิษย์ของพระองค์ต้องมีใจสุภาพถ่อมตน ปฏิเสธตัวเอง ไม่ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง หรือสำคัญผิดว่าตัวเองคือความถูกต้อง แต่ให้พระเจ้าเป็นศูนย์กลางของชีวิต มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุด “พระองค์จะต้องทรงยิ่งใหญ่ขึ้นส่วนข้าพเจ้าจะต้องด้อยลง” (ยน 3:30)
ประการที่สอง จงเทิดทูนไม้กางเขน ทุกวันนี้มีการประดับกางเขนด้วยเพชร นิล จินดา แต่เครื่องประดับที่มีค่าที่สุดคือ การช่วยให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความรักและการช่วยให้รอดของพระเจ้าบนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าได้ชนะบาปและความตายแล้ว มีเพียงพระองค์เท่านั้นที่สามารถช่วยเราให้ได้รับชัยชนะและเดินในหนทางที่ถูกต้อง
ประการที่สาม จงดำเนินชีวิตบนหนทางแห่งไม้กางเขน ทุกครั้งที่เรามองดูกางเขนหรือทำสำคัญมหากางเขน ต้องเตือนตัวเราให้เลียนแบบพระเยซูเจ้า ผู้ถูกตรึงกางเขน บนเส้นทางแห่งการรับใช้ ความรักและการให้อภัยอย่างหาที่สุดมิได้ พระเจ้ามิได้ส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อพิพากษาโลก แต่เพื่อช่วยโลกให้รอด เราจึงไม่ควรบ่นว่าหรือตำหนิกันและกัน แต่สนับสนุนส่งเสริมและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
บทสรุป
การฉลองเทิดทูนไม้กางเขน เตือนใจเราให้ตระหนักถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่มีต่อเรา ผ่านทางกางเขนของพระเยซูเจ้าเราได้รับการช่วยให้รอด กางเขนจึงเป็นเครื่องหมายแห่งความรอด บ่อเกิดแห่งชีวิต การให้อภัยและพระทัยเมตตาของพระเจ้า ที่เราจะต้องแบกด้วยความยินดี เพื่อช่วยโลกให้ตระหนักถึงความรักของพระคริสตเจ้าที่ถูกตรึงเพื่อความรอดของทุกคน
พระเยซูเจ้าทรงไถ่เราด้วยกางเขนศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ และทรงเปลี่ยนเครื่องหมายแห่งความตายในสมัยนั้นให้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งความรอดนิรันดร ให้เราได้เทิดทูนกางเขนและนำเครื่องหมายที่นำความรอดนี้ไปสู่ทุกคน เพื่อช่วยทุกคนให้ได้พบความรักของพระเจ้าและความรอดนิรันดร ผ่านทางแบบอย่างชีวิตของเรา
ที่มา
www.catholic.or.th
dondaniele.blogspot.com
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น